เตือนภัย!! หญ้าแม่มดกินข้าวโพดของเกษตรกร
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 พบหญ้าแม่มดดอกสีขาว ระบาดในไร่ข้าวโพดของเกษตรกร อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เดิมระบาดในไร่อ้อยของ คุณมานะ - คุณเฉลียว อินทร์ชู จึงเปลี่ยนจากอ้อยมาเป็นข้าวโพด โดยไม่ทราบว่าหญ้าแม่มดสามารถดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทุกชนิด ทำให้ผลผลิตเสียหาย
คุณมานะ - คุณเฉลียว อินทร์ชู เกษตรกรเจ้าของแปลงที่พบการระบาดของหญ้าแม่มด
“ ประมาณ 2-3 ปีแล้ว เข้าไร่ปกติ ก็ไปเจอหญ้าอะไรมันแปลกๆ ก็เลยไปหาข้อมูลดูว่ามันคือหญ้าอะไร แต่มันก็ยังไม่เยอะ พยายามถอน ใส่ถุงเอามาทิ้ง ก็มีขึ้นทุกปี ๆ เราก็ไม่รู้จะจัดการมันอย่างไร” คุณรัตนา อินทร์ชู หนึ่งในเกษตรกรชาวไร่อ้อย-ไร่ข้าวโพดที่ได้รับผลกระทบ ในพื้นที่ตำบลนิคมเขาบ่อแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวกับทีมงาน “นสพ.แนวหน้า” ว่า พบอ้อยที่ไม่ได้น้ำหนักตามที่ต้องการและอีกหลายต้นที่ตายลง กระทั่งไปพบข้อมูลว่า หญ้าแม่มดจะไปเกาะที่รากของอ้อยเพื่อแย่งชิงอาหารจากอ้อยที่เกษตรกรปลูกไว้ และต่อมาเมื่อแบ่งพื้นที่ปลูกข้าวโพด ก็ยังพบการระบาดในไร่ข้าวโพดเช่นกัน
จากภาพ ต้นทางซ้ายมือ คือต้นที่ถูกดูดกินน้ำเลี้ยงจนฝักข้าวโพดเล็กและเมล็ดลีบ ส่วนต้นทางขวามือ คือต้นปกติที่ไม่ถูกหญ้าแม่มดทำลาย
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ทางเพจ “สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย” ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับชนิดหญ้าแม่มด 7 สายพันธุ์ ที่มีรายงานพบในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งมี 2 สายพันธุ์ที่พบหรือเคยพบในประเทศไทย คือ สายพันธุ์ “Striga asiatica (L.) O. Ktze ดอกสีเหลืองหรือสีแดง” มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของประเทศทางตะวันออกและทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เช่น เอธิโอเปีย
ในวันที่ 27 กันยายน 2565 ทีมงานสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยได้เข้าไปให้ความรู้กับครอบครัวของคุณรัตนา และเกษตรกรอีกหลายรายในละแวกใกล้เคียง นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เล่าว่า ในอดีตเคยมีการระบาดในปี 2517 ที่จังหวัดอุบลราชธานี แต่ได้มีความพยายามกำจัดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเวลานั้นเกษตรกรหันไปปลูกมันสำปะหลังซึ่งไม่ใช่พืชเป้าหมายของหญ้าแม่มด ทำให้วัชพืชชนิดนี้หายสาปสูญไปและไม่มีรายงานพบมาตั้งแต่ปี 2527 กระทั่งในปี 2560 ซึ่งครั้งนี้เป็นหญ้าแม่มดที่มีดอกสีขาวไม่ใช่สีเหลืองอย่างที่เคยพบในปี 2517
ภายใต้รูปลักษณ์ที่สวยงามและดูไม่มีพิษไม่มีภัยจนทำให้หลายคนนำไปปลูก แต่จริง ๆ แล้วไร่อ้อยหรือข้าวโพดที่พบหญ้าแม่มดขึ้นนั้น อ้อยหรือข้าวโพดจะมีขนาดเล็กลีบและไม่ได้มาตรฐานไปจนถึงทำให้อ้อยหรือข้าวโพดตายลง นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย อธิบายว่า หญ้าแม่มดเป็นวัชพืชที่แย่งอาหารพืชประเภทใบเลี้ยงเดี่ยวใบแคบ เช่น อ้อย ข้าวโพด และเติบโตได้ดีในดินทรายหรือดินผสมหินปนทรายและเมื่อเมล็ดงอกออกมาก็จะแทงรากเข้าไปในรากของพืชเป้าหมายเพื่อดูดน้ำเลี้ยง และการกำจัดก็ทำได้ยาก การถอนหากไม่สามารถนำรากขึ้นมาได้ทั้งหมดก็จะแตกหน่อขึ้นได้ใหม่ และเมล็ดนั้นเล็กมากเหมือนกับฝุ่นผงสามารถติดไปกับสิ่งของต่าง ๆ ได้ง่าย จึงอาจติดมือเกษตรกรไปได้ด้วย โดยหญ้าแม่มด 1 ฝักมีเมล็ดเฉลี่ยราว 700 เมล็ด และ 1 ต้นมีมากถึง 2 แสนเมล็ด
วิธีการกำจัดหญ้าแม่มด แนะนำให้ใช้สาร “ซัลเฟนทราโซน(Sulfentrazone)” และ “อินดาซิแฟลม (Indaziflam)” ฉีดหลังปลูกพืช สารเหล่านี้เมื่อฉีดแล้วจะอยู่ได้ราว 3 เดือน จึงต้องฉีดซ้ำอีกรอบหนึ่งเมื่อใกล้ถึงเวลาดังกล่าว สรุปแล้ว 1 รอบการปลูกนั้นจะฉีดสารกำจัดหญ้าแม่มดประมาณ 2 ครั้ง
หญ้าแม่มด เป็นวัชพืชกักกันร้ายแรงและนานาชาติต่างเฝ้าระวังไม่ให้หลุดเข้าไปในประเทศของตน เช่นเดียวกับที่ประเทศออสเตรเลียซึ่งประกาศเขตกักกันหญ้าแม่มดที่รัฐควีนส์แลนด์ เฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายพืชเกษตรออกไปยังรัฐอื่นอย่างเข้มงวด เมล็ดของหญ้าแม่มดที่อยู่ในดินจะมีอายุตั้งแต่ 10-20 ปี จึงต้องเฝ้าระวังจนกว่าจะหมดอายุของหญ้าแม่มด
ที่มา : สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย , คอลัมน์การเมืองที่นี่แนวหน้า
20 ตุลาคม 2565
ผู้ชม 1604 ครั้ง