เตือนภัยเกษตรประจำวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในเขตภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระวังการระบาดของแมลงบั่วเนื่องจากในช่วงนี้พื้นที่ดังกล่าวข้าวอยู่ในระยะแตกกอ ประกอบกับในช่วงนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว โดยเฉพาะพื้นที่เป็นภูเขาและมีเชิงเขาล้อมรอบ ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวเหมาะต่อการขยายพันธุ์และวางไข่ของแมลงบั่ว ดังนั้น เกษตรควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดให้ดำเนินการควบคุมโดยทันที
รูปร่างลักษณะ
แมลงบั่ว ตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายยุงหรือริ้นลำตัวยาวประมาณ ๓ – ๔ มิลลิเมตร หนวดและขามีสีดำเวลากลางวันตัวเต็มวัยจะเกาะซ่อนตัวอยู่ใต้ใบข้าวบริเวณกอข้าว และเวลากลางคืนจะบินไปหาที่มีแสงไฟเพื่อผสมพันธุ์ เพศผู้ลำตัวมีสีน้ำตาลปนเหลืองขนาดเล็กกว่าเพศเมีย เพศเมียส่วนท้องมีสีแดงส้มวางไข่ใต้ใบข้าวในเวลากลางคืน โดยเป็นฟองเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่ม ๓ - ๔ ฟอง เพศเมีย ๑ ตัวสามารถวางไข่ได้หลายร้อยฟองในชั่วอายุ ๔ วัน ไข่มีลักษณะคล้ายกล้วยหอม ยาวประมาณ ๐.๔๕ มิลลิเมตรกว้างประมาณ ๐.๐๙ มิลลิเมตร ระยะไข่ประมาณ ๓ – ๔ วัน ตัวหนอนคล้ายหนอนแมลงวันหัวท้ายเรียวหนอนมี ๓ ระยะ ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะคลานตามบริเวณกาบใบเพื่อแทรกตัวเข้าไปในกาบใบ เข้าไปอาศัยกัดกินที่จุดเจริญ (growing point)ของตายอด หรือตาข้างบริเวณข้อ ระยะหนอนนาน ๑๑ วันขณะที่หนอนอาศัยกัดกินอยู่ภายในตาของต้นข้าวที่กำลังเจริญเติบโต ต้นข้าวจะสร้างหลอดหุ้มตัวหนอนไว้ทำให้เกิดเป็นช่องกลวงที่เรียกว่า“หลอดบั่วหรือหลอดหอม”
ลักษณะการทำลาย
เมื่อตัวหนอนฟักออกจากไข่จะคลานลงสู่ซอกของใบ ยอด และกาบใบเพื่อเข้าทำลายยอดที่กำลังเจริญเติบโต โดยหนอนจะอาศัยกัดกินอยู่ภายในตาของต้นข้าวที่กำลังเจริญเติบโต ต้นข้าวจะสร้างหลอดหุ้มตัวหนอนไว้ทำให้เกิดเป็นช่องกลวงที่เรียกว่า“หลอดบั่วหรือหลอดหอม” หลอดจะยิ่งขยายใหญ่ขึ้นตรงส่วนที่ถูกหนอนบั่วทำลาย มีลักษณะเป็นหลอดยาว มีสีเขียวอ่อนแตกต่างจากหน่อข้าวปกติ ต้นข้าวและกอข้าวที่ถูกทำลายมีอาการแคระแกร็น ต้นเตี้ย ลำต้นกลม สีเขียวเข้ม ไม่ออกรวง ยอดที่ถูกทำลายไม่สามารถออกรวงได้ ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงมาก ระยะข้าวแตกกอจะเป็นระยะที่แมลงบั่วเข้าทำลายมากและจะพบแมลงบั่วระบาดมากในช่วงฤดูฝน
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. กำจัดวัชพืชรอบแปลงนา เช่น ข้าวป่า หญ้าข้าวนก หญ้าไซ หญ้าแดง หญ้าชันอากาศเพื่อทำลายพืชอาศัยของแมลงบั่ว
๒. ไม่ควรหว่านข้าวหรือปักดำข้าวถี่เกินไป ในพื้นที่ที่มีการระบาดของแมลงบั่วเป็นประจำ
๓. ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงนา หากพบจำนวนไม่มากให้ถอนต้นเป็นหลอดออกจากแปลงนานำไปเผาทำลาย
๔. ใช้กับดักแสงไฟล่อตัวเต็มวัยเพื่อจับมาทำลาย ในช่วงเวลา ๑๙.๐๐ - ๒๑.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม
๕. สุ่มสำรวจแปลงนาเมื่อพบต้นข้าวแสดงอาการใบไม่คลี่ แต่เป็นหลอดคล้ายหลอดหอม ๓ - ๕ เปอร์เซ็นต์ (ต้นข้าว ๑๐๐ ต้น พบต้นที่เป็นหลอด ๓ - ๕ หลอด) ในช่วงข้าวระยะกล้าถึงแตกกอใช้สารกำจัดแมลง คลอไทอะนิดิน ๑๖ % เอสจี หรือ คลอร์ไพรีฟอส ๔๐ % อีซี หรือ อิทิโพรล ๑๐ % เอสจี
๖. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น แมงมุม และแตนเบียนของแมลงบั่ว
ที่มา : สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว , กรมส่งเสริมการเกษตร
20 ตุลาคม 2565
ผู้ชม 7605 ครั้ง